ฉบับที่ 684 ปีที่ 29ปักษ์พฤหัสบดี --เมษายน2004

นัดพิเศษ

สัมภาษณ์
โดย อริศรา

แม่เมืองจันทบุรี ผศ.ดร สุภัททา ปิณฑะแพทย์

            วันที่ทีมงานนิตยสารหญิงไทยไปเยือนเมืองจันทบุรีนั้น ด้วยภาระหน้าที่คณบดีคณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฎสวนสุนันทา ทำให้ ผศ.ดร.สุภัทา ปิณฑะแพทย์ ภริยาท่านวิทยา ปิณฑะแพทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ไม่อาจเดินมาให้สัมภาษณ์ที่จันทบุรีได้ แต่จากการที่ได้ไปพบถึงห้องทำงาน ทำให้เราพบความสมถะ เรียบง่าย และความอบอุ่นในความเป็น "ครู" ที่ท่านได้ถ่ายทอดออกมาในบทสัมภาษณ์
            โครงการหลายโครงการที่ "แม่เมืองจันทบุรี" ท่านนี้ ตั้งขึ้นภายใต้ชื่อโครงการของ "ป้าขาว" ล้วนแต่เป็นโครงการที่ริเริ่ม สร้างสรรค์นอกจากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้วยังช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยในสังคมตลอดจนสอนให้คนทุกคนในสังคมมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้คนรอบข้าง คุณนายผู้ว่าฯจึงไม่ใช่เพียง "หลังบ้าน" ธรรมดาๆแต่เป็นมันสมองอันล้ำค่าที่ช่วย "ผู้ว่าฯ" ขบคิดแก้ไขสาระพันปัญหาเท่าที่ "หลังบ้าน" มีสิทธิจะทำได้อีกด้วยค่ะ
            "...ตัวดิฉันจบปริญญาตรีเคมี คณะวิทยาศาสตร์ที่ ฟอร์ดเฮ แคนซัส สเตท คอลเลจ ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านผู้ว่าฯ เป็นรุ่นพี่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ท่านเรียนจบก่อน แล้วเรียนต่อปริญญาโท เมื่อดิฉันจบปริญญาตรีก็จึงเรียนต่อปริญญาโทด้วยแต่เปลี่ยนสายการเรียน เนื่องจากร่างกายไม่แข็งแรงพอ เพราะการเรียนปริญญาโททางเคมีในต่างประเทศนั้น ต้องทุ่มเททั้งร่างกาย ทั้งสมอง เรามี unknown ตัวหนึ่ง เราต้องวิ่งหาข้อมูลเองทั้งหมด ห้องเคมี ตึกเคมี เปิดทั้งคืนให้นักศึกษาค้นคว้าทดลอง ตอนนั้นดิฉันอายุ 21 ปี เคยแพ้สารเคมีจนเป็นลม จึงคิดว่าเรียนปริญญาโทเราเลือกมาทางสายการสอนวิชาเคมีเป็น Master of Science ไม่เน้นเรื่องการทดลอง แต่เน้นเรื่องการนำวิชาเคมีไปสอนนักเรียน...
            ...เมื่อท่านผู้ว่าเรียนจบปริญญาโท ท่านก็รอดิฉันจนจบปริญญาโทด้วย แล้วเราก็แต่งงานกันที่สหรัฐอเมริกาเลย ลูกชายคนโต (ทวิทย์ ปิณฑะแพทย์) และคนรอง (ทยา ปิณฑะแพทย์) ก็คลอดที่นั่น การใช้ชีวิตครอบครัวที่โน่นก็สนุกสนานมาก ท่านผู้ว่าฯกับดิฉันอายุเท่ากัน เราก็ทะเลาะกันบ่อยมาก (หัวเราะ) ช่วยกันเลี้ยงลูก ช่วยกันทำงาน ตอนนี้ลูกชายคนโตอายุ 36 ปีเรียนจบปริญญาตรีสาขาคอมพิวเตอร์ จากสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ขณะนี้ทำงานที่อเมริกาเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้เงินเดือน...อย่าตกใจนะ (ยิ้มๆ) เดือนละหมื่นกว่าเหรียญ (โอ้โห! พวกเราอุทานพร้อมกัน) คิดเป็นเงินไทยประมาณสามแสนกว่าบาท เขาอยู่ที่รัฐซานฟรานซิสโก ส่วนลูกชายคนรองตอนนี้อายุ 35 ปี ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ถนนสีลม ดิฉันมาคลอดลูกชายคนเล็ก (วีระภัทร ปิณฑะแพทย์)ที่เมืองไทย ตอนนี้เขาอายุ 30 ปี ทำงานที่การท่าอากาศที่ดอนเมือง มีครอบครัวกันไปแล้ว 2 คน เหลือคนสุดท้องนี่ล่ะค่ะ..."
            ท่านทำงานอยู่ที่อเมริกานานไหมคะกว่าจะเดินทางกลับมาเมืองไทย
            "...ทำงานอยู่ที่อเมริกาปีเดียว พอดีมีข่าวสอบปลัดอำเภอ ท่านผู้ว่าฯบอกว่าท่านอยากเป็นปลัดอำเภอนะ ว่าแล้วเราสองคนก็ลาออกจากบริษัท กลับมาเมืองไทย ท่านผู้ว่าฯเป็นคนที่มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ท่านจะวางแผนการดำเนินชีวิตของท่านไว้เป็นขั้นตอน ซึ่งท่านก็นำมาใช้ในการทำงานด้วย งานของท่านจึงมีระบบระเบียบ ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ดิฉันก็คิดว่าจะไปทำงานบริษัทเคมีภัณฑ์ เพราะร่ำเรียนมาทางด้านนี้ ท่านผู้ว่าบอกว่า 'แม่จะไปทำได้หรือ ร่างกายแม่ไม่แข็งแรงนะ' สมัยก่อนดิฉันผอมมากเลย น้ำหนัก 48 กิโลกรัมเท่านั้นและสิ่งที่ท่านตั้งใจมากคือถ้าท่านไปเป็นปลัดอำเภอ ดิฉันต้องอยู่ดูแลลูกๆท่านก็คิดได้ว่า 'แม่ต้องเป็นครู' จากนั้นเราก็มานั่งคิดกันว่าน่าจะเป็นวิทยาลัยครูเพราะเราย้ายติดตามไปได้ทั่วประเทศ...
            ...ต้องเล่าท้าวความไปถึงสมัยวัยเด็กนิดหนึ่ง ดิฉันเป็นคนจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบมัธยมต้น ดิฉันอยู่โรงเรียนประจำมาตลอด แล้วมาสอบเรียนมัธยมปลายที่กรุงเทพฯ มาอยู่กรุงเทพฯก็จะหลงทางเป็นประจำ ไม่คุ้นเคยเลยไปไหนมาไหนไม่ค่อยถูก ดิฉันจบ มศ.5 แล้วไม่ได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยเพราะแขนหัก ไปสอบไม่ทัน จึงไปเรียนต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์และบินไปเรียนต่อจบปริญญารีและโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อเรากลับมาถึงเมืองไทย เราก็ยังไม่ค่อยรู้จักว่าสถานที่ราชการอะไรอยู่ตรงไหน ดิฉันไปสอบเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีบางมดได้แต่ไปไม่ได้เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่า 'บางมด' อยู่ตรงไหน ก็จึงไม่ไป เมื่อมาสอบวิทยาลัยครูก็คิดเองว่าถ้าสอบได้แล้วคงได้ไปอยู่บางแสนหรือ กทม. แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ดิฉันแจ้งความจำนงว่าขออยู่ใน กทม. เขาก็บอกว่าไม่มีแล้วคนเขาเลือกไปหมดแล้ว ตอนนี้ที่เหลือก็มีจังหวัดยะลา กังจังหวัดปัตตานี ดิฉันยกมือไหว้บอกเขาว่า 'งั้นก็ขอกราบลาล่ะค่ะ' (พวกเราหัวเราะพร้อมๆกัน) เขาก็นึกว่าดิฉันเส้นใหญ่ เพราะวันฟังปฐมนิเทศน์เราก็ไม่ได้มา พอบอกจังหวัดที่จะให้ไปอยู่ก็กราบลาเขาอีก เขาก็เลยก้มลงดูชื่อ เห็นชื่อเราอยู่เป็นชื่อแรกเลย ดิฉันสอบภาษาอังกฤษนะคะไม่ได้สอบเคมีเขาจึงบอกว่า งั้น! ไปอยู่จังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ไหน จนมาบอกคุณแม่ มาบอกสามี คุณแม่บอกว่าไปเลยไปเอาเลย ฉะเชิงเทราใกล้เมืองชลนะ อยู่ห่างจากบ้านเรา 24 กิโลเมตรเอง (หัวเราะสนุกสนาน) ดิฉันจึงรีบแจ้นกลับมาเลย บอกว่าตกลงไปฉะเชิงเทราค่ะ แล้วจึงได้ทำงานที่วิทยาลัยครูตั้งแต่นั้นมา..."
            แล้วได้ย้ายติดตามท่านผู้ว่าไปอยู่ที่ไหนมาบ้างคะ
            "...จังหวัดแรกที่ท่านผู้ว่าฯไปเป็นปลัดอำเภอคือ จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอกระสังข์ แล้วย้ายมาเป็นปลัดอำเภอที่อำเภอศรีราชา ดิฉันเคยไปอยู่ที่อำเภอกระสังข์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตอนช่วงที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ฉะเชิงเทรา แต่เมื่อย้ายมาอยู่ที่สวนสุนันทา ตั้งแต่ปี 2518 ก็ไม่ได้ย้ายติดตามท่านไปไหนอีก..."
            ท่านเข้ามาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์นานหรือยังคะ
            "...ดิฉันนั่งในตำแหน่งนี้มา 2 ปี แล้วค่ะ เป้าหมายของคณะครุศาสตร์คือเราต้องการผลิตครูให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ซึ่งครูที่เราผลิตออกไปส่วนใหญ่แล้วจะเป็นครูที่มีคุณภาพจริงๆอันนี้ไม่ได้พูดชมคณะตัวเองนะคะ เหมือนว่าเวลาเขาอยู่กับเราเขาจะทำท่างงๆไม่เข้าใจ จนดิฉัน...นี่! ทำไมต้องให้ฉันบอกเธอทุกเรื่อง...(ทำเสียงคล้ายดุนักเรียน) แต่เวลาเขาเรียนจบออกไป เขามีงานทำกันทุกคนเลยส่วนใหญ่นักศึกษาสวนสุนันทามักจะมีอุปนิสัยอย่างนี้ค่ะ คือ 1. ไม่เลือกงาน 2. ขยันหนักเอาเบาสู้ 3. ช่างซักช่างสังเกต และถ้างานมีอุปสรรคเขาจะพยายามหากลวิธีทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ (อมยิ้มนิดๆด้วยความภาคภูมิใจ) ดังนั้นเวลาใครมาถาม ลูกศิษย์ดีไหม ตอบเขาไปว่าตอบไม่ได้หรอกนะว่าดีหรือเปล่า เพียงแต่รู้ว่าเขาจบออกไปแล้ว เขาไม่เคยตกงาน บางคนยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูตัวอย่าง ครูต้นแบบ ได้รับรางวัลอะไรต่างๆมากมาย เวลาเราไปพบเขาข้างนอกเขาข้างนอก เขามายกมือไหว้สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูได้งานที่นั่นที่นี่เราฟังแล้วก็ชื่นใจ ดีใจไปกับความสำเร็จของเขา..."
            ภาระหน้าที่ของท่านในฐานะภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดและเป็นนายกเหล่ากาชาดจังหวัดมีอะไรบ้างคะ
            "...ก็เป็นงานที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนในจังหวัดที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบอยู่นอกจากนี้ก็มีงานอยู่หลายโครงการ ซึ่งทุกโครงการต้องใช้สตางค์ค่อนข้างเยอะ ตัวดิฉันเองไม่ค่อยมีเงินพูดจริงๆนะคะ อย่างงานกาชาด เราต้องหาเงินจัดกันเองนะ หาด้วยน้ำพักน้ำแรงจริงๆก็มีนักธุรกิจนักการเมืองเอาของขวัญมาช่วยให้กาชาดมีของจับสลาก ก็ได้เงินกันมาพอสมควร...
            ...ส่วนงานชิ้นเด่นๆที่ทำอยู่ตอนนี้ คือ ทำเว็บไชต์แนะนำงานของกาชาดจังหวัดจันทบุรีและเขียนโครงการเป็นภาษาอังกฤษไว้ 2 โครงการ คือ โครงการหยดน้ำใจให้คนชรา หรือ Golden cions เราใช้คำนี้เพราะว่าเราอยากได้เศษเหรียญ จากคนที่ไม่ใช่มาบริจาคให้โครงการเรา จะสวลึงหรือห้าสิบสตางค์เราก็รับบริจาค และอีกความหมายหนึ่งที่เราคิดคือคำว่า Golden coins ก็ใกล้เคียงกับคำว่า Golden age เพราะคนชราก็อยู่ในวัยทอง โครงการหยดน้ำใจให้คนชราจะตั้ง เป้าหมายไว้ว่า คนชราใน 1 อำเภอ อย่างน้อย 1 คน ต้องมีอาหารรับประทาน โครงการนี้ไม่ได้ให้เงินแก่คนชราแต่ให้เงินอาสาสมัคร คนที่จะทำอาหารให้คนชรารับประทาน เพราะฉะนั้นคนชราที่เดินต๊อกต๊อก บางคนแขน-ขา พิการบางคนตาบอด อยู่บ้านไม่มีคนดูแล เขาจะมีอาหารกิน คนชรากินอะไรไม่ได้เยอะ แต่เราจะให้เขาได้กินอาหารที่มีประโยชน์ เรามีเงินให้คนที่รับอาสาเดือนละ 800 บาท ให้เขาพยายาม management เงินเหล่านั้นให้ได้ดิฉันก็บอกเขาว่า ถ้าคุณต้องจ่ายเกินกว่านี้ ก็เท่ากับคุณกำลังทำบุญช่วยคนชรานะ ซึ่งโครงการนี้นายอำเภอของแต่ละอำเภอเขาจะรับไปดูแลอีกทีหนึ่ง...
            ...อีกโครงการหนึ่งคือรักบ้านเรารักษ์เยาวชน ดิฉันเข้าไปบรรยายให้เด็ก ม.1 กับ ม.2 ฟัง...เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ และการหลีกเลี่ยงยาเสพติดเหตุที่ต้องให้มาฟังทั้ง ม.1 และ ม.2 เพราะอยากให้พี่คอยดูแลน้องๆด้วย ไม่ใช่มาชักชวนกันไปในทางที่ผิด ดิฉันบรรยายที่โรงเรียนมัธยมของจันทบุรีเกือบทั้งหมด ยกเว้นที่เขาสอยดาวยังไม่ได้ไป ผลที่ได้รับกลับมาก็ดีนะคะ เด็กๆรู้จัก "ป้าขาว" กันทั้งเมืองเวลาดิฉันไปบรรยายจะเรียกตัวเองว่าเป็น "ป้าขาว" เพื่อเพิ่มความใกล้ชิดกับเขา เด็กที่มาฟังแต่ละครั้งประมาณ 100-200 คน...
            ...ตอนนี้ยังคิดอยู่ว่าถ้าพระราชบัญญัติ ราชภัฏออกมา อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเลือกตั้งผู้ที่จะขึ้นมาเป็นคณบดีกันใหม่ ดิฉันจะขอไม่เป็นคณบดีแล้ว เพราะอยากทุ่มเทเวลาไปบรรยายให้เด็กๆฟังมากกว่านี้และคิดว่าถ้าท่านผู้ว่าฯย้ายไปจังหวัดอื่น ดิฉันจะติดตามไปทำโครงการ 2 โครงการ นี้ให้จังหวัดนั้นๆด้วย เพราะเป็นโครงการที่เราสามารถลงไปช่วยเขาได้ เนื่องจากว่าเราเป็นนักจิตวิทยาด้วย ก็จะใช้ความรู้ของตัวเองสร้างกิจกรรม ทำให้เขาคิด ให้เขาตอบคำถาม เช่น เราจะสมมติเหตุการณ์ให้เขาคิดว่าถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นหนูจะคิดอย่างไร ทำไมจึงคิดแบบนี้ เมื่อเขาตอบแล้ว เราจะถามต่อไปว่า ลองคาดหวังดูไหมว่า เมื่อคิดและทำอย่างนั้นไปแล้ว จะมีผลอะไรเกิดขึ้นตามมา...
            ...โครงการนี้ยังไม่มีคนช่วยค่ะ ดิฉันลุยบรรยายมาเกือบทั้งจังหวัดแล้ว บางครั้งเราไม่ว่างจริงๆก็ให้คนขับรถขับมารับตอนตีสาม เพื่อจะไปให้ทันบรรยายตอนเช้า บรรยายเสร็จก็กลับมาทำงานต่อ ไม่เหนื่อยค่ะเห็นเด็กๆเขาสนใจ เราก็ชื่นใจ ในเว็บไซต์งานของคณบดี ก็มีเว็บไซต์ป้าขาวอยู่ อยากให้เขาคิด อยากให้เขามีอีเมล์มาคุยมาถาม แต่ค่อนข้างจะเข้ายากนิดหนึ่งเพราะเป็นเว็บของสถาบัน มูลนิธิรักษ์ไทยจึงให้ทุนมาทำเว็บไชต์ ป้าขาวให้เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่านี้ คิดว่าต่อไปคงจะคุยกับพวกเด็กๆได้ง่ายขึ้น...
            ...มีเด็กบางคนมาเล่าให้ฟังว่าอยากหนีโรงเรียน ดิฉันก็ให้เขา list รายกายมาเลยว่าถ้าหนูหนีโรงเรียน หนูจะเจออะไรบ้างในวันรุ่งขึ้น เช่น หนูจะต้องถูกคุณครูตี ต้องถูกตัดคะแนน เรียนไม่ทันต้องไปขอลอกงานเพื่อน ต้องโกหกแม่ โกหกพ่อ ต้องทำอะไรอีกมากมาย ซึ่งถ้าหนูยอมตื่นเช้าอีกนิด ไปเรียนหนังสือเรื่องยุ่งยาก ลำบากใจ เหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เด็กๆเขาจะหัวเราะฮาเลย แต่เขาก็จะจำ..."
            ตอนนี้กำลังมีการณรงค์ให้ใช้ผ้าทอมือของไทยท่านนิยมใช้ผ้าไทยมานานแค่ไหนแล้วคะ       
            "...ดิฉันใช้ผ้าไทยมาตั้งแต่สมัยยังสาวๆ(หัวเราะ) ตอนนี้สูงอายุแล้วก็ยังใช้ผ้าไทยอยู่ ดิฉันเป็นคนชอบผ้าฝ้าย ชอบนุ่งผ้าถุง เพื่อนบอกว่านุ่งผ้าถุงแล้วสวย คราวนี้เลยใส่แต่ผ้าถุงทุกวันนี้ก็ยังนุ่งนะ บางครั้งก็ใช้ผ้าถุงสวยๆแบบไม่เย็บเป็นถุง มาใส่แบบพันๆ แล้วใส่กับเสื้อผ้าฝ้ายยับหน่อยก็เป็นไร หรือบางครั้งก็นำผ้าถุงมาเย็บเป็นกระโปรงยาวกรอมเท้า ใส่กับเสื้อผ้าดิบฟอกใส่แล้วดูเซอส์ๆหน่อยนะ แต่จะชอบแต่งตัวอย่างนั้น
            ...สำหรับผ้าไหม สิ่งหนึ่งที่ผ้าไหมต้องพัฒนาคือ ผ้าไหมเป็นผ้าที่ซักเองด้วยมือไม่ได้เพราะสีจะตกและรีดยากมาก ใครจะบอกว่าเอาไปแช่ตู้เย็นนะ ทำมาแล้วทุกอย่างก็ยังรีดยากอยู่ดี ผ้าไหมเป็นผ้าที่ดูแลยาก ผู้ใส่ต้องสวมใส่ด้วยความระมัดระวัง เมื่อไรต้องใช้อย่างสมบุกสมบันคนก็จะไม่ใส่...
            ...จันทบุรีมีลายผ้าของคนเผ่าพื้นเมืองอยู่เผ่าหนึ่งชื่อ "ชาวชอง" ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ออสโตรเอเชียติค กลุ่มมอญ เขมร คนชองมีรูปร่างลักษณะร่างกายสันทัด ผมหยิกหยักศก หน้าผากเหลี่ยม ผิวดำแดง เขาเป็นคนมีนิสัยซื่อสัตย์ ชอบอยู่ในที่สงบ รักอิสระ ปัจจุบันจันทบุรีมีประชากร "ชอง" อยู่ประมาณ 6,000 คน ในเขตบ้านวังแซ้ม บ้านปึก อำเภอมะขาม บ้านกระทิง เป็นต้น เขามีภาษาพูดและวัฒนธรรมของตนเองเช่น "พุดโธ่ พุดถัง กาละมัง ครอบโต๊ด" (โต๊ดแปลว่า หัว) มีอยู่วันหนึ่งดิฉันไปงานกาชาด ก็มีคนเอาผ้าทอมาให้ดูบอกว่าจันทบุรีทอผ้าเองได้แล้วนะ ดิฉันจึงนำไปว่าถ้าเป็นไปได้ให้เอาลายชองมาทอกันหน่อยได้ไหม เพราะเป็นลายโบราณของคนพื้นเมือง เพราะการที่เรามีผ้าทอมือแต่ต้องไปใช้ลายพื้นเมืองของจังหวัดอื่น ผ้าทอของจันทบุรีก็ไม่มีเอกลักษณ์ ดังนั้นเราควรหาลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเราดีกว่า แล้วก็ต้องให้ค่าลิขสิทธิ์ภูมิปัญญากับเขาไป เพื่อเป็นกำลังใจให้เขา..."
            ชาวหญิงไทยก็ขอเป็นกำลังใจให้ช่างทอผ้าชาวจันทบุรี รังสรรค์ลายผ้าชาวชองออกมาอวดสายตาคนทั้งประเทศได้ในเร็ววันค่ะ

 
 
 
 
 
ผศ.ดร. สุภัททา ปิณฑะแพทย์